๒. วัณณุปถชาดก (ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน)

(๒) วัณณุปถชาดก (ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน)

                สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภภิกษุผู้สละความเพียรรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ จึงทรงแสดงชาดกนี้ให้เป็นผล

                มีเนื้อความว่า ภิกษุรูปหนึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ ๕ พรรษา แล้วออกไปบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่ในป่าหนึ่งตลอด ๓ เดือนฤดูฝนก็ไม่สำเร็จคุณวิเศษสักอย่างเดียว เธอจึงออกจากไพรสณฑ์กลับสู่พระเชตวันมหาวิหาร แจ้งอาการที่ตนกลับมานั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำภิกษุรูปนั้นเข้าไปกราบพระพุทธองค์ ทูลเล่าเรื่องที่ภิกษุนั้นสละความเพียรให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสปลอบโยนภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ เธอเป็นผู้มีความเพียรอันแรงกล้ามาแล้วแต่ปางก่อน มาบัดนี้เหตุไรจึงท้อถอยเสีย ดังนี้ แล้วจึงทรงแสดงซึ่งชาดกนี้ว่า ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณ-สี มีพ่อค้าเกวียนอยู่คนหนึ่งได้พร้อมด้วยบริวาร ขับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปค้าขายต่างประเทศผ่านทะเลทรายอันกันดารด้วยน้ำ ซึ่งมีประมาณระยะทาง ๖๐ โยชน์เป็นกำหนด ในเมื่อเดินทางไปอีกโยชน์หนึ่งจะข้ามทะเลทราย ได้ให้บริวารเทน้ำและฟืนทิ้งเสียแต่ในเวลาเย็น พอตกถึงเวลากลางคืนก็ออกเดินทางต่อ แต่เผอิญบุรุษผู้เป็นนายทาง ซึ่งนอนแหงนดูดาวประจำทิศที่จะไปได้อ่อนใจหลับไปเสีย เกวียนได้กลับมาที่เก่าจนกระทั่งเกือบสว่าง เมื่อเขาตื่นขึ้นก็ได้ทราบว่าหมู่เกวียนได้กลับมาถึงที่เก่า แล้วจึงให้หมู่เกวียนกลับหน้าปรารถนาจะเดินทางอีกต่อไป แต่พอกลับขบวนได้ก็พอดีสว่างไม่สามารถที่จะเดินทางกลางวันต่อไปได้ เพราะเหตุว่าทะเลทรายนั้นในเวลากลางวันย่อมร้อนเหลือประมาณ จึงจำเป็นต้องพักอยู่ในสถานที่นั้น ฝ่ายคนทั้งหลายซึ่งพากันอดน้ำคืนยันรุ่ง เมื่อแลไม่เห็นหนทางจะได้น้ำมาบริโภค ก็พากันซบเซาเข้าใจว่าต้องตายเป็นเที่ยงแท้ ในคราวนั้น พ่อค้าที่เป็นหัวหน้า ได้เที่ยวเดินตรวจตามทะเลทราย ก็เผอิญได้พบกอหญ้าใหญ่อยู่กอหนึ่ง จึงลงสันนิษฐานว่า ใต้กอหญ้านี้ลงไปคงจะมีตาน้ำ จึงให้คนใช้ของตนขุดลงไป แต่พอขุดลงไปได้ประมาณ ๖๐ ศอก ก็พบแผ่นศิลาใหญ่ ฝ่ายคนใช้นั้นกับพรรคพวกก็พากันทิ้งจอบขึ้นมาเสียโดยหมดหวัง ส่วนพ่อค้าที่เป็นหัวหน้าใหญ่นั้นจึงลงไปเอียงหูฟังที่แผ่นศิลา ก็ได้ยินเสียงกระแสน้ำไหลดังอยู่ข้างล่าง จึงเรียกคนใช้คนนั้นลงไปแล้วบอกว่า พ่อเอ๋ยพ่อมหาจำเริญ พ่อจงอย่าท้อแท้เสีย จงช่วยชีวิตของโคและคนทั้งหลายไว้เถิด พ่อจงเอาแท่งเหล็กใหญ่ลงมากระทุ้งแผ่นศิลานี้ให้แตกทำลายในบัดนี้ให้จงได้ ก็จักได้น้ำบริโภคดังประสงค์ เมื่อคนใช้ได้ฟังดังนั้นก็มิได้รอรั้ง ได้รีบนำแท่งเหล็กอันใหญ่ลงไปกระทุ้งแผ่นศิลาตามคำสั่งของนาย ในทันใดนั้น แผ่นศิลาก็หลุดลงเป็นโพรงใหญ่ ท่อน้ำมีประมาณเท่าลำตาลก็พุ่งขึ้นมาทันที คนและโคทั้งหลายก็ได้อาศัยกิน อาศัยอาบโดยผาสุกสำราญ พ่อค้าที่เป็นหัวหน้าได้ปักกรุยเป็นเครื่องหมายไว้ พอพระอาทิตย์อัศดงคตก็พากันออกเดินทางต่อ จนกระทั่งข้ามทะเลทรายไปถึงชนบทที่มุ่งหมาย ได้จำหน่ายสินค้าเสร็จสิ้นแล้ว ก็พากันกลับไปยังบ้านเมืองของตน

                ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งชาดกนี้จบลงแล้ว จึงประทานพุทธโอวาท ไว้โดยพระพุทธนิพนธ์คาถาว่า

               

 

                อกิลาสุโน วณฺณุปเถ ขณนฺตา             อุทงฺคเณ ตตฺถ ปปํ อวินฺทุ

                เอวํ มุนิ วิริยพลูปปนฺโน                         อากิลาสุ วินฺเท หทยสฺส สนฺตินฺติ

                แปลว่า พ่อค้าทั้งหลายผู้ไม่ย่อท้อ พากันขุดน้ำบ่อในทะเลทรายก็ได้น้ำกินน้ำอาบตามประสงค์ฉันใด นักปราชญ์ผู้ประกอบด้วยความเพียร ผู้ไม่ย่อท้อก็ย่อมได้ความสงบใจฉันนั้น ดังนี้

                ครั้นประทานพุทธโอวาทอันนี้จบลงแล้ว จึงประกาศซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ ครั้นจบอริยสัจเทศนาลง ภิกษุผู้สละความเพียรนั้น ก็ได้บรรลุซึ่งพระอรหัตผล แล้วสมเด็จพระทศพลจึงทรงประชุมชาดก ยกบุคคลในท้องเรื่องขึ้นประกาศว่า คนใช้ผู้ไม่ท้อถอยสู้อุตส่าห์ต่อยซึ่งศิลาให้แตกทำลายในอดีตชาตินั้น ได้เกิดมาเป็นภิกษุผู้สละความเพียรในบัดนี้ ส่วนพ่อค้าเกวียนเหล่านั้น ก็ได้มาเกิดเป็นพุทธบริวารนี้ พ่อค้าที่เป็นหัวหน้า ได้อุบัติเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเราตถาคตในบัดนี้

“ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำใน

ทางนั้น ณ. ที่ราบ ฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและ

กำลัง เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น.”

วัณณุปถชาดก จบ.