๔๗. วารุณิทูสกชาดก (ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภผู้ทำให้สุราเสียไปคนหนึ่ง อันมีเนื้อความต่อไปว่าสหายแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีคนหนึ่งเป็นพ่อค้าสุรา สุราของเขาล้วนแต่มีรสฉุน คราวหนึ่ง เมื่อเขาจะไปในที่อื่นจึงสั่งคนใช้ผู้หนึ่งให้ตวงสุราขายแทนตน เขาก็ได้กระทำตาม เมื่อเห็นพวกนักเลงสุราเรียกเอาก้อนเกลือไปกินแกล้มเสมอ เขาจึงคิดว่า สุราของเขาคงไม่เค็ม แล้วเขาจึงหยิบเกลือเติมลงไปในไหสุรา เมื่อพวกนักเลงสุราพากันซื้อดื่มต่อไปต่างก็สั่นศีรษะแล้วพากันกลับ เมื่อพ่อค้าสุราผู้เป็นนายกลับมาถึงจึงไต่ถามว่า เหตุไรพวกนักเลงสุราจึงพากันกลับไปเร็วนัก เมื่อคนใช้แจ้งให้ทราบแล้ว พ่อค้าสุรานั้นได้นำเรื่องนั้นมาเล่าให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ออกไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาเจ้าทูลเล่าเรื่องนั้นถวาย สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี บุรุษผู้ทำสุราให้เสียไปนั้นเขาได้เคยทำมาแล้วในกาลก่อน จึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาลครั้งสมเด็จพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีพ่อค้าสุราคนหนึ่งได้อาศัยเศรษฐีคนหนึ่งอยู่ พ่อค้าคนนั้นได้ปรุงสุราอย่างฉุนแล้วสั่งคนใช้ว่า เจ้าจงขายสุรานี้ให้แก่พวกนักเลงสุรา ครั้นสั่งแล้วก็ไปอาบน้ำชำระตัว ฝ่ายคนใช้นั้นก็หยิบเกลือใส่ลงไปในไหสุราทำให้รสสุราเสียไปทั้งไห เวลาพ่อค้าทราบเรื่องนั้น จึงนำความไปเล่าให้เศรษฐีฟังเศรษฐีจึงกล่าวว่า ธรรมดาคนโง่ย่อมเป็นอย่างนี้ แล้วได้กล่าวเป็นสุภาษิตไว้ว่า

น   เว  อนตฺถกุสเลน       อตฺถจริยา   สุขาวหา

หาเปติ   อตฺถํ   ทุมฺเมโธ     โกณฺฑญฺโญ   วารณึ   ยถาติ

          แปลว่า ผู้ฉลาดในทางเสียหาย จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ดีไม่ได้เลย คนโง่ย่อมทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เสียไป เหมือนกับโกณฑัญญบุรุษผู้ทำให้สุราเสียไปฉะนั้น

          ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า บุรุษที่ทำให้รสสุราเสียไปในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นบุรุษที่ทำให้รสสุราเสียไปในบัดนี้ ส่วนเศรษฐีในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้เอง ในชาดกนี้ มีเนื้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า ธรรมดาคนโง่ย่อมทำให้เสียประโยชน์เสมอไป แต่คนที่เรียกว่าโง่นั้น ไม่ใช่ว่าจะโง่ทุกสิ่งไป คือ เขาโง่แต่ทางดีเท่านั้น ส่วนทางเสียทางชั่วเขาย่อมเข้าใจดี โดยไม่มีผู้ใดสั่งสอน เพราะฉะนั้น ขอให้เข้าใจเถิดว่า คนที่ฉลาดในทางชั่วช้าเสียหาย นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น เรียกว่าคนโง่ทั้งนั้น เหมือนอย่างพวกทำทุจริตทั้งสิ้น เรียกว่าคนโง่ทั้งนั้น เพราะเหตุว่าความฉลาดของเขาเป็นความฉลาดในทางเลว จึงไม่นับว่าเป็นคนมีปัญญา อีกอย่างหนึ่ง คนที่ไม่รู้จักทางชั่วและทางดีก็เรียกว่าคนโง่ทั้งนั้น คนโง่จำพวกหลังนี้ นักปราชญ์พอจะแนะนำสั่งสอนในทางดีได้บ้าง ส่วนคนโง่จำพวกก่อน ยากที่นักปราชญ์จะแนะนำสั่งสอน โดยเหตุนี้ขอท่านทั้งหลายควรจำหลักนี้ไว้สังเกตดูผู้ที่อยู่ในปกครองของตน หรือในบ้านของตนว่าคนไหนจะโง่หรือฉลาดประการใด ถ้าคนไหนรู้จักแต่ทางเลว ไม่รู้จักทางดีหรือไม่รู้จักทางเลวและทางดี ก็ให้รู้เถิดว่า คนนั้นเป็นคนโง่ ถ้าคนนั้นรู้จักทางเลวและทางดี หรือรู้จักแต่ทางดีทางเดียว ให้รู้เถิดว่าคนนั้นเป็นคนฉลาด ข้อนี้ท่านทั้งหลายผู้เคยสังเกตบุตรหลาน ก็คงจะเคยเห็นมาแล้วเป็นบรรทัดฐาน ดังนี้

“ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ถึงจะทำ

ความเจริญก็ไม่สามารถ จะนำความสุขมา

ให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย

เหมือนกับโกณทัญญบุรุษทำสุราให้เสีย ฉะนั้น.”

วารุณิทูสกชาดกจบ.