๒๖. มหิฬามุขชาดก (ว่าด้วยการเสี้ยมสอน)

          พระบรมศาสดาทรงปรารภพระเทวทัตให้เป็นต้นเหตุ มีเรื่องราวสืบอนุสนธิว่า ในครั้งนั้นมีกุลบุตรสองสหาย คนหนึ่งไปบวชอยู่ในสำนักพระเทวทัต คนหนึ่งไปบวชอยู่ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุ ๒ รูปนั้นได้พบปะกันเสมอ วันหนึ่งภิกษุผู้บวชอยู่ในสำนักพระเทวทัตได้ชักชวนภิกษุที่เป็นสหาย ที่บวชในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ไปฉันในวัดแห่งพระเทวทัต ภิกษุผู้เป็นสหายก็อนุมัติตามคำแนะนำ เมื่อภิกษุรูปนั้นไปฉันอาหารอันมีรสเลิศหลายประการก็ติดใจในรสอาหาร ได้เวียนไปฉันเสมอเป็นนิตยกาล เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบจึงกล่าวห้ามปรามว่าท่านไม่สมควรไปฉันแห่งวัดพระเทวทัต ภิกษุรูปนั้นก็ไม่เชื่อฟังตามถ้อยคำห้ามปรามของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนั้นไปกราบทูลแด่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์โปรดให้หาตัวภิกษุรูปนั้นเข้าเฝ้า เมื่อตรัสถามได้ความตามเป็นจริงแล้วพระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจะได้เป็นคนใจเหลาะแหละเชื่อฟังคำผู้อื่นโดยง่ายแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในปางก่อนก็เหมือนกัน ครั้นตรัสดังนี้แล้วจึงทรงแสดงเรื่องในอดีตกาลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยุ่ในกรุงพาราณสี ท้าวเธอมีมงคลหัตถีอยู่เชือกหนึ่งเป็นช้างพระที่นั่งมีหน้าเหมือนกับหน้าช้างพัง มีกิริยาสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ไม่ร้ายกาจหยาบช้าเหมือนช้างสามัญธรรมดา ช้างนั้นมีนามว่ามหิฬามุข อยู่ในโรงช้างข้างพระราชวัง ครั้งหนึ่งพวกโจรมาประชุมสนทนากันข้างโรงพญาช้างในเวลากลางคืนอยู่หลายคืน พวกโจรนั้นสนทนากันแต่ในทางตีชิง วิ่งราว ลักขโมย ปล้นสะดม แนะนำเพื่อนกันให้นิยมในทางร้ายกาจว่า พวกเราทั้งหลายอย่าเป็นคนมีเมตตากรุณาแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เห็นว่าควรฆ่าได้ก็ให้ฆ่า ควรตีได้ก็ให้ตีจึงจะเป็นการดี ดังนี้เป็นต้น พญาช้างนั้นก็เข้าใจว่า พวกนั้นไปแนะนำสั่งสอนตนให้ร้ายกาจ จึงคิดว่าแต่นี้ไปเราจะประพฤติตัวดุร้ายจึงจะสมควร คิดดังนี้แล้วก็ได้ประพฤติตามที่คิดไว้นั้น ในเวลาเช้าเมื่อคนเลี้ยงช้างเข้าไปในโรงก็จับคนเลี้ยงช้างฟาดลงกับพื้นให้ถึงแก่ความตาย เมื่อคนเลี้ยงอื่น ๆ เข้าไปก็ฆ่าตายเสียเหมือนกันเป็นอันมาก ราชบุรุษทั้งหลายหลากใจจึงนำความไปกราบทูลแด่สมเด็จพระเจ้าพาราณสี พระองค์จึงโปรดให้อำมาตย์ผู้มีปรีชาญาณผู้หนึ่ง ไปตรวจดูว่าจะมีเหตุผลเป็นประการใด พญาช้างจึงได้ดุร้ายเช่นนั้น เมื่ออำมาตย์นั้นไปพิจารณาดูก็เห็นว่าพญาช้างนั้นมีร่างกายเป็นปกติดีอยู่  จึงคิดเฉลียวใจว่าชะรอยจะมีผู้มาแนะนำเสี้ยมสอนให้พญาช้างนี้ดุร้ายเป็นแน่  เมื่อไต่ถามได้ความเป็นแน่ว่ามีพวกโจรมาสนทนากันที่โรงพญาช้างหลายราตรีแล้ว จึงกลับไปกราบทูลพระเจ้ากรุงพาราณสีให้ทรงทราบ แล้วขอให้โปรดอัญเชิญสมณพราหมณ์ผู้มีศีลให้ไปสนทนากันถึงเรื่องที่ดีงามให้พญาช้างได้ฟังเสมอ  พระองค์ก็ได้ทรงอนุมัติตามโปรดให้            สมณพราหมณ์ทั้งหลายไปนั่งสนทนากันถึงกิริยามารยาทที่งดงามและอัธยาศัยคือใจอันอ่อนโยนประกอบด้วยเมตตากรุณา  เมื่อพญาช้างได้ฟังก็กลับตั้งตนอยู่ในสีลาจารวัตรตามเดิม อำมาตย์จึงนำความไปกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงพาราณสีว่า ปุราณโจรานํ วโจ นิสมฺม เป็นอาทิ แปลว่า  พระองค์ผู้วิเศษด้วยพระคุณธรรม พญาช้างมหิฬามุขได้ทำลายชีวิตของมนุษย์ ไปเป็นอันมาก เพราะอาศัยได้ฟังถ้อยคำแห่งหมู่โจรอันเหี้ยมหาญ บัดนี้พญาช้างตัวประเสริฐได้ตั้งอยู่ในคุณธรรมอันพิเศษดีงาม เพราะได้ฟังถ้อยคำแห่งสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีลธรรมอันดีแล้ว ดังนี้ 

          ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้จบลงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า ช้างมหิฬามุขครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นภิกษุผู้ไปคบกับศิษย์พระเทวฑัตในบัดนี้ พระเจ้ากรุงพาราณสี ได้มาเกิดเป็นอานนท์ อำมาตย์ผู้พิจารณาเหตุผลในพญาช้างนั้น คือเราตถาคตในบัดนี้แล ดังนี้ ในชาดกนี้ชี้ให้เห็นว่า การเป็นผู้มีใจเหลาะแหละไม่หนักแน่นมั่นคง ย่อมเป็นที่ติเตียนของนักปราชญ์ทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดังนี้

พญาช้างชื่อมหิฬามุข ได้เที่ยวทุบตีคน เพราะ

ได้ฟังคำของพวกโจรมาก่อน พญาช้างผู้อุดมตั้งอยู่

ในคุณทั้งปวง ก็เพราะได้ฟังคำของท่านผู้สำรวมดีแล้ว”

มหิฬามุขชาดกจบ.