๔๐. ขทิรังคารชาดก (ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง)

          สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงปรารภการถวายทานแห่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้เป็นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงเรื่องนี้ให้เป็นผล มีเรื่องราวเป็นมาว่า  อนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ได้บำรุงพระพุทธศาสนาเสมอมา สิ้นทรัพย์ไปจะนับประมาณมิได้ ในครั้งนั้น มีพ่อค้าคนหนึ่งเป็นหนี้เศรษฐีอยู่ ๑๘ โกฏิ ท่านเศรษฐีก็มิได้ทวงคืนมายังทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิที่ท่านเศรษฐีฝังไว้ริมฝั่งมหาสมุทร ก็ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังกลิ้งลงไปสู่ท้องมหาสมุทรเสีย ท่านเศรษฐีได้ยากจนลงโดยลำดับจนกระทั่งไทยทานก็มีแต่ข้าวปลายเกวียนกับน้ำส้มผักดองเท่านั้น สำหรับถวายแก่พระภิกษุสงฆ์วันละ ๕๐๐ องค์เป็นนิจ ครั้นต่อมา มีเทวดาตนหนึ่งซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านเศรษฐี ซึ่งเป็นเทวดาจำพวกมาร ได้หาโอกาสตัดการถวายทานแห่งเศรษฐีอยู่เสมอ พอได้โอกาสจึงกล่าวกับเศรษฐีว่า ดูก่อนท่านเศรษฐี บัดนี้ท่านจงเลิกการให้ทานเสียเถิดเพราะท่านยากจนลงด้วยเหตุให้ทานแก่สมณะศีรษะโล้น เมื่อเศรษฐีได้ฟังดังนั้น จึงไต่ถามได้ความจริงแล้ว จึงขับไล่เทวดาไม่ให้อยู่ในซุ้มประตูบ้านของตนอีกต่อไป เมื่อเทวดาถูกขับไล่ก็ได้ไปขอให้เทวดาองค์อื่นมาช่วยขอขมาโทษต่อท่านเศรษฐีเพื่อให้ตนได้อยู่ในที่เก่าต่อไป ก็ไม่มีเทวดาตนใดสามารถจะไปขอขมาโทษต่อท่านเศรษฐีได้ ในที่สุดจึงไปขอร้องทุกข์ต่อสมเด็จ   อมรินทราธิราชเพื่อให้ช่วยตน สมเด็จอมรินทราธิราชจึงตรัสว่า เราก็ไม่สามารถที่จะพาเธอไปขอขมาโทษได้เพราะเธอเจรจาถ้อยคำอันไม่สมควรยิ่งนัก แต่เราจักบอกอุบายให้ คือ เธอจงจำแลงเพศเป็นนายคลังแห่งท่านเศรษฐีไปทวงเอาทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่พ่อค้านั้นยืมไปกับทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิ ที่จมลงไปในท้องมหาสมุทร กับทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิ ซึ่งไม่มีเจ้าของอันมีอยู่ในที่โน้น รวม ๓ รายการ เป็น ๕๔ โกฏิ ไปบรรจุไว้ในคลังแห่งท่านเศรษฐี เมื่อเทวดาได้ฟังดังนั้นก็กระทำตามแล้วไปขอขมาโทษต่อท่านเศรษฐี ๆ จึงกล่าวว่า เรายังยกโทษให้ท่านไม่ได้ เพราะท่านได้ด่าว่าถึงสมเด็จพระบรมศาสดา ถ้าท่านจะไปขอโทษในสำนักพระบรมศาสดาเราจึงจะยกโทษให้ได้ เทวดานั้นก็ยินดีกระทำตาม เมื่อไปถึงสำนักพระบรมศาสดา เศรษฐีได้กราบทูลเล่าเรื่องที่เป็นมาถวายให้ทรงทราบ เมื่อเทวดานั้นขอขมาโทษเสร็จแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้กระทำกรรมอันชั่วช้าลามกในโลกนี้ ถ้ากรรมที่ทำนั้นยังไม่ให้ผลอยู่เพียงใดเขาก็ยังเห็นความเจริญอยู่เพียงนั้น แต่เมื่อใดกรรมนั้นให้ผลเขาจึงจะเห็นผลร้าย ส่วนคนดี ถ้าความดียังไม่ให้ผลอยู่ตราบใดก็ยังลำบากอยู่ตราบนั้น เมื่อความดีให้ผลแล้วจึงจะมีความสุขความเจริญ ดังนี้ ดูก่อนคฤหบดี ตัวท่านเป็นโสดาบันมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเห็นอันบริสุทธิ์การที่เทวดาผู้มีศรัทธาอันเล็กน้อยห้ามท่านไม่ได้ดูไม่น่าอัศจรรย์ ในปางก่อนผู้มีปรีชาญาณไม่แก่กล้า ซึ่งพระยามารห้ามไม่ได้ นั่นแหละเป็นการอัศจรรย์ แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอดีตว่า ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตผ่านสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งยินดีอยู่ในการบริจาคทานมาแต่กำเนิด เมื่อบิดาสิ้นบุญแล้วก็ได้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีแทน แล้วได้สร้างโรงทานขึ้นถึง ๘ แห่ง บริจาคทานอยู่เสมอทั้งรักษาศีลอยู่เป็นนิจ อยู่มาวันหนึ่ง  ขณะที่พ่อครัวยกสำรับมาตั้งให้รับประทาน ก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ออกจากนิโรธสมาบัติเหาะมายืนอยู่ที่ประตูบ้านแห่งท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีพอแลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วจึงลุกขึ้นไปแลดูคนใช้ ๆ ได้ไต่ถามว่าจะให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ท่านเศรษฐีก็บอกว่า เธอจงไปรับบาตรของพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาใส่อาหารในเดี๋ยวนี้ แต่ในขณะนั้น พระยามาราธิราชผู้อยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๖ ได้แลเห็นด้วย   ทิพพเนตร ก็มีเจตนาจะตัดการถวายทานแห่งเศรษฐีนั้น  จึงรีบลงมาจากสวรรค์ บันดาลให้เป็นหลุมถ่านเพลิงอันใหญ่ มีส่วนลึกถึง ๘ ศอก ขวางทางคนใช้ที่จะไปรับบาตรแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้า บรรดาคนใช้ไม่มีผู้ใดสามารถจะฝ่าหลุมถ่านเพลิงนั้นไปได้ เศรษฐีนั้นจึงต้องไปเอง ได้ยกสำรับขึ้นทูนศีรษะแล้วได้ลงไปจากปราสาท พอไปถึงที่ใกล้หลุมถ่านเพลิงจึงตัดสินใจว่า ถึงเราจะตายก็ควรจะถวายทานให้จงได้ ครั้นตกลงใจดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า

กามํ   ปตามิ   นิรยํ                       อุทฺธํปาโท   อวํสิโร

นานริยํ    กริสฺสามิ                    หนฺท   ปิณฺฑํ   ปฏิคฺคห

          แปลว่า ถึงข้าพเจ้าจะตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงนี้ก็ตามที ข้าพเจ้าก็จักไม่ทำอันตรายแก่การถวายทานเป็นอันขาด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกรุณารับบิณฑบาตที่ข้าพเจ้าจักถวายนี้เถิด ดังนี้ ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงได้เดินฝ่าไปบนหลุมถ่านเพลิงในบัดเดี๋ยวนั้น ก็มีดอกปทุมอันใหญ่เท่ากงเกวียนมีกลีบได้ตั้งร้อยชั้น พันชั้น ผุดขึ้นมารับเท้าแห่งเศรษฐีนั้น เศรษฐีนั้น ก็ได้ใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าดังประสงค์ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ารับบิณฑบาตแล้วก็ทรงแสดงคาถาอนุโมทนา แล้วเหาะขึ้นสู่อากาศเวหาตรงไปสู่ที่อยู่ของพระองค์ท่าน ฝ่ายเศรษฐีนั้นก็ได้แสดงผลแห่งทานและผลแห่งศีล แก่มหาชนซึ่งอยู่ในที่นั้นแล้วบำเพ็ญทาน รักษาศีลอยู่เสมอมาจนตลอดอายุขัย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีในครั้งนั้น ได้อุบัติมาเป็นเราตถาคตนี้แล

“เราจะตกนรกมีเท้าขึ้นเบื้องบน มี

ศีรษะลงเบื้องล่างก็ตามเราจักไม่ทำกรรม

อันไม่ประเสริฐ ขอเชิญท่านจงรับก้อนข้าวเถิด.”

ขทิรังคารชาดกจบ จบกุลาวกวรรค.