ทำไมในโลกนี้จึงมีศาสนามากมายนัก

 

(นายมิกถาม) ทำไมในโลกนี้จึงมีศาสนามากมายนัก ?

(ตอบ) คำว่า “ศาสนา” ซึ่งแปลว่า คำสั่งสอนนั้น เป็นคำที่คนทั้งโลกสมมุติบัญญัติ (สมมติบัญญัติชื่อเป็นภาษาของตนแต่ละชาติ ๆ ไป) ขึ้นมาพูดหรือเขียนกันเท่านั้น ไม่เป็นไปตามหรือไม่สอดคล้องกับธรรมชาติในชีวิตจริงของคนทั้งโลกแต่อย่างใด แต่เมื่อมองคำว่า “ศาสนา” ในด้านปรมัตถ์บัญญัติหรือด้านสัจจบัญญัติแล้ว ย่อมมีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่เป็นสากลจริง ๆ คือ “ศาสนาพุทธ” เพราะเป็นศาสนาหรือเป็นคำสั่งสอนที่เป็นไปตามหรือสอดคล้องกับธรรมชาติในชีวิตของคนทั้งโลกจริง ๆ แม้การดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียกกันว่า “กรรม” หรือ “พฤติกรรม” ของคนทุกชาติทุกภาษาทั้งโลกนั้นก็ย่อมตรงกันหมดทั้งสิ้น จะต่างกันบ้างก็แต่เพียงภาษาพูดหรือเขียนเท่านั้น (พูดหรือเขียนตามภาษาประจำชาติ แต่พฤติกรรมของชีวิตจริงเหมือนกันหมด) โปรดพิจารณาต่อ

= ความเป็นสากลของศาสนาพุทธ =

คำว่า “สากล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้จำกัดความไว้ว่า ทั้งหมด ใช้แทนคำ “ระหว่างประเทศ” ก็มี เช่น สภากาชาดสากล, น่านน้ำสากล ดังนี้ เหมือนกันกับคำว่า พุทธศาสนา เป็นศาสนาสากลหรือเป็นคำสั่งสอนสากล คือ สั่งสอนคนตามความเป็นจริงของชีวิตคนทุกคน “ระหว่างประเทศ” โดยมีพุทธศาสนาหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เกี่ยวกับองค์ประกอบชีวิตของคนทุกชาติทุกภาษาว่า มีธรรมะหรือมีธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในชีวิต ๕ กลุ่มธรรมหรือจะเรียกว่า “ระบบชีวิต” ก็ย่อมได้ คือ

๑. ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ๑๙  ธาตุน้ำ ๑๒  ธาตุไฟ ๔ และธาตุลม ๖ (รวม ๔ ธาตุเป็น ๔๑ อย่าง) มีประกอบอยู่ในชีวิตคนเหมือนกันหมดทั้งโลก จะตรงกับภาษาของนักเรียนหรือนักคิดที่ถูกสอนมาจากครูสอนหนังสือ ตอนว่าด้วย“กายวิภาคและสรีรวิทยา” ว่า “โครงสร้างและระบบการทำงานของร่างกาย” สรุปลงใน ๑๐ ระบบ มีระบบโครงกระดูก ระบบกล้ามเนื้อ (ธาตุดิน) ระบบย่อยอาหาร (ธาตุไฟ) เป็นต้น ความรู้ของนักคิดถือว่ายังแบ่งองค์ประกอบของชีวิตไม่สมบูรณ์พอ

๒. ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ขันธ์เหล่านี้มีประกอบอยู่ในชีวิตคนเหมือนกันหมดทั้งโลก แต่นักเรียนหรือนักคิดไม่รู้ไม่เห็นและไม่เข้าใจ เพราะทั้งโลกไม่มีใครเขาสอนกันในสถาบันการเรียนการสอนทั่ว ๆ ไป

๓. อายตนะ ๑๒ ที่เป็นอายตนะภายใน ๖ คือ จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และมนายตนะ และมีอายตนะภายนอก ๖ คือ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะและธรรมายตนะ อายตนะเหล่านี้ก็มีประกอบอยู่ในชีวิตคนเหมือนกันหมดทั้งโลก นักเรียนหรือนักคิดพอจะรู้ได้เป็นบางอย่าง แต่เป็นความรู้ฝ่าย “อวิชชา” ไปเสีย เพราะเป็นความรู้ที่ยั่วยวนให้คนทั้งโลกเกิดความโลภ ความโกรธ และความหลงผิดเป็นชอบอย่างยิ่ง เช่น อวิชชากล้อง ที่เรียนแบบมาจาก “ตา” เป็นต้น

๔. ธาตุ ๑๘ คือ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ ธรรมธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ธาตุเหล่านี้ก็มีประกอบอยู่ในชีวิตคนเหมือนกันหมดทั้งโลก แต่นักเรียนหรือนักคิดรู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ เพราะทั้งโลกไม่มีใครเขาสอนกันในสถาบันการเรียนการสอนทั่ว ๆ ไป

๕. อินทรีย์ ๒๒ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ อัญญินทรีย์ อัญญาตาวินทรีย์ อินทรีย์เหล่านี้ก็มีประกอบอยู่ในชีวิตคนเหมือนกันหมดทั้งโลก แต่นักเรียนหรือนักคิดรู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ เพราะทั้งโลกไม่มีใครเขาสอนกันในสถาบันการเรียนการสอนทั่ว ๆ ไป

สรุปว่า กลุ่มธรรมชาติทั้ง ๕ กลุ่มนี้ มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นต้น ที่ร่วมประกอบอยู่หรือมีผสมผสานอยู่ในชีวิตคนทุกชาติทุกภาษาทั้งโลกนั้น ล้วนเป็น “พุทธศาสนา” หรือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น จะต่างกันแต่เพียงภาษาพูดหรือเขียนเท่านั้น เช่นคำว่า ตา ในคำว่า จักขวายตนะ จักขุนทรีย์ จักขุธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ เหล่านี้ล้วนเป็นชื่อของอวัยวะที่ติดอยู่ใบหน้าใต้คิ้วลงมานิดหน่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมีมาประจำอยู่ในคนทุกชาติทุกภาษาทั้งโลกด้วย แต่ภาษาเรียกก็แตกต่างกันไปของคนแต่ละชาติ ๆ เท่านั้น ความหมายของตา คือ ทำหน้าที่มองเห็นสิ่งที่มีรูปร่างในระยะที่ตาพอจะมองเห็นได้เหมือนกันหมด แม้พุทธศาสนาคำอื่น ๆ ก็เหมือนกันหมด เช่นคำว่า ปุริสินทรีย์ (บุรุษ) อิตถินทรีย์ (หญิง) โสมนัสสินทรีย์ (ความดีใจ) สุขินทรีย์ (ความสุข) ทุกขินทรีย์ (ความทุกข์) เป็นต้น ล้วนเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ในชีวิตของคนผู้ยังมีชีวิตอยู่ทุกคนทั้งโลกด้วยเหมือนกัน และเป็นเช่นนี้อยู่ทุกยุคทุกสมัยของคนทั้งโลกด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า “พุทธศาสนา” เป็นศาสนาเดียวเท่านั้นในโลกที่เป็นสากลจริง ๆ

= พุทธศาสนาเกี่ยวกับกรรมหรือพฤติกรรม =

พุทธศาสนา หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับ “กรรม” หรือ “พฤติกรรม” ของคนผู้มีชีวิตอยู้ทั้งโลกก็เป็นคำสั่งสอนชนิดที่เป็น “สากล” เช่นกัน เพราะเป็นศาสนาที่สอนเรื่องกรรมหรือพฤติกรรมตรงกับการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกทุกชาติทุกภาษาด้วย สำหรับภาษาพูดหรือเขียนนั้นย่อมแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา แต่ความหมายด้านกรรมหรือพฤติกรรมนั้นเหมือน ๆ กันหมดทั้งโลก เช่น พุทธศาสนาหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในบท “มาติกา”ในอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยกรรมหรือพฤติกรรมในวิถีชีวิตแห่งการเลี้ยงชีพประจำวันของคนทั้งโลกนั้นตรงกันหมด ๓ ลักษณะ คือ

๑. วิถีชีวิตที่เป็นอกุศลกรรม (อกุสลา ธัมมา) หรือเป็นความชั่วที่ไม่ฉลาดในการแสวงหาทรัพย์สมบัติมาเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเลี้ยงชีวิต มีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ความชั่วทางกาย ๓ อย่าง (๒) ความชั่วทางวาจา ๔ อย่าง (๓) ความชั่วทางใจ ๓ อย่าง วิถีชีวิตของคนชาติใดภาษาใดก็ตามย่อมทำเหมือน ๆ กันหมดในฝ่ายที่เป็นความชั่ว คนชาตินั้น ๆ ภาษานั้น ๆ ทั้งหมดผู้ทำความชั่วแล้ว (เข้าใจว่าดีหรือไม่รู้ว่าชั่วก็ตาม) ย่อมได้รับผลเป็นชั่ว คือ ชีวิตย่อมประสบปัญหาหรือประสบความทุกข์นานาชนิดทั้งหมด เช่น พุทธศาสนาสอนเรื่องอกุศลกรรมหรือความชั่วอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่างนั้นว่า มีเจตนาฆ่าสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งมีลมปราณ จะฆ่าเพราะเหตุใดก็ตาม ชื่อว่าเป็นอกุศลกรรมหรือเป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย (ชั่วร้ายตรงที่ว่า ทุกคนทุกสัตว์รักและหวงแหนชีวิตตน) ชีวิตผู้ถูกฆ่าก็ตายแต่จะทำการอาฆาตหรือผูกเวรไว้ด้วยใจ ส่วนชีวิตผู้ฆ่าย่อมมีวิญญาณพยาบาทติดตามแก้แค้น ที่สุดชีวิตของผู้ฆ่าเขามาแล้วนั้นจะประสบทุกข์หรือประสบภัยพิบัติที่ร้ายต่าง ๆ ในวันข้างหน้าอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่าง คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย วิวาทภัย โรคภัย อุปัตติภัย (อุบัติเหตุ) ทุพภิกขภัย วินาศภัย (คนชาติใดภาษาใดทั้งโลกเหล่านั้น เมื่อทำการฆ่าสัตว์หรือฆ่าคนแล้ว ย่อมได้รับผล คือ ประสบภัยร้าย ๑๐ อย่างดังที่กล่าวมาแล้วนั้นทุกคนทั้งโลกในเมื่อผู้ใดทำ)

๒. วิถีชีวิตที่เป็นกุศลกรรม (กุสลา ธัมมา) หรือเป็นความดีที่มีความฉลาดในการแสวงหาทรัพย์สมบัติมาเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเลี้ยงชีวิต มีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ความดีทางกาย ๓ อย่าง (๒) ความดีทางวาจา ๔ อย่าง (๓) ความดีทางใจ ๓ อย่าง เหมือนกันหมดทุกชาติทุกภาษาในเมื่อทำเป็นความดีแล้ว (จะเข้าใจว่าไม่ดีหรือไม่รู้ว่าดีก็ตาม) ชีวิตของผู้ทำทุกคนทั้งโลกย่อมได้รับผลดีเหมือน ๆ กันหมดในวันข้างหน้า เช่น ความดีอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนั้นว่า มีเจตนางดเว้นจากการฆ่าสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งมีลมปราณ ดังนี้ จะคิดงดเว้นหรือคิดไม่ฆ่าเพราะเหตุใดก็ตาม ชีวิตจะไม่ประสบกับความทุกข์หรือไม่ประสบภัยพิบัติที่ชั่วร้ายอย่างใดใน ๑๐ อย่างนั้น คือ จะไม่ประสบกับราชภัย โจรภัย เป็นต้น (กรุณาหาอ่านรายละเอียดที่อื่น)

๓. วิถีชีวิตที่เป็นความพิเศษและมหัศจรรย์ยิ่ง (อัพยากตา ธัมมา) คือ การใช้ชีวิตไปด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ ที่เป็นสัมมาปฏิบัติจริง ๆ และปฏิบัติกับอาจารย์ผู้สำเร็จสัมมาทิฏฐิจริง ๆ ด้วย จะได้มีปัญญาหรือมีความรู้ด้าน“ภาวนามยปัญญา” ซึ่งเป็นปัญญาที่ไม่เจือปนด้วยความจำหรือความคิดแต่อย่างใด เพราะปฏิบัติให้ความจำหรือความคิดนิพพานไปแล้ว คงมีให้ใช้อยู่แต่เฉพาะสติปัญญาสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ทุก ๆ คนทั้งโลกมีสิทธิให้ชีวิตตนปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ทุกคน แต่ใครจะปฏิบัติที่สามารถยังความจำหรือความคิดให้นิพพานได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๓ อย่างจะรวมเป็นเอกภาพหรือไม่ คือ (๑) วิปัสสนาจารย์ท่านนั้นสำเร็จ “ภาวนามยปัญญา” คือ เป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิจริงมาเป็นกัลยาณมิตรอบรมสั่งสอน (๒) ตัวผู้ปฏิบัติเป็น ผู้มีปุพเพกตปุญญตา คือ มีบุญอันตนทำไว้แล้วแต่ปางก่อนมีมากด้านนี้ด้วย (๓) ความเป็นสัปปายะหรือความสะดวกสบายในขณะปฏิบัติอยู่นั้นเป็นใจหรือไม่ หากองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้พร้อมก็ย่อมสำเร็จ (สอบถามรายละเอียดได้ทุกวัน)

= ศาสนามีคำแปลและความหมายอย่างไร ? =

คำว่า ศาสนา แปลว่า คำสั่งสอน ยังไม่ระบุว่าเป็นคำสั่งสอนของใคร และยังไม่ทราบว่า มีคำสั่งสอนว่าอย่างไร เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์จึงควรกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกันมีอยู่ ๓ อย่าง คือ

๑. ศาสดา คือ คนผู้ทำหน้าที่สั่งสอนผู้อื่น

๒. ศาสนา คือ คำสั่งสอนของผู้เป็นศาสดา

๓. ศาสนิก หรือ ศาสนิกชน หรือสาวก คือ กลุ่มชนผู้ยอมรับเอาคำสั่งสอน (รับเอาศาสนา) มาปฏิบัติตาม

= ความต่างระหว่างศาสดา ครู อาจารย์ =

๑. ศาสดา คือ บุคคลผู้ทำหน้าที่ในการสั่งสอนภาษาธรรม หรือสั่งสอนภาษาจิตใจ เพื่อให้เกิดปัญญารู้เรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงในโลก จะได้งดเว้นสิ่งที่มีโทษแล้วยอมปฏิบัติตามแต่สิ่งที่มีคุณ

๒. ครู คือ บุคคลผู้ทำหน้าที่ในการสั่งสอนภาษาหนังสือ ครูประเทศใดก็ย่อมสั่งสอนภาษาหนังสือให้ประชาชนในประเทศนั้น ๆ หรืออาจจะสั่งสอนภาษาหนังสือของประเทศอื่นก็ย่อมได้ เพื่อให้เกิดปัญญารู้เรื่องภาษาหนังสือ แล้วจะได้เป็นผู้อ่านออก เขียนได้ ใช้เป็นในแต่ละภาษา ๆ ที่สอนและเรียน อาจจะแยกเป็นภาษาหนังสือในวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น เมื่อมีปัญญาความรู้แล้วย่อมนำไปเป็นข้ออ้างประกอบอาชีพได้ เป็นต้น

๓. อาจารย์ คือ บุคคลผู้ทำหน้าที่สั่งสอนให้มีมรรยาท หรือมีความประพฤติปฏิบัตตนในสังคมแต่ละกลุ่ม ๆ เช่น ผู้สั่งสอนมรรยาทในการบรรพชาเรียกว่า ปัพพฌาจารย์ ผู้สั่งสอนมรรยาทในการอุปสมบทเรียกว่า อุปสัมปทาจารย์ ผู้สั่งสอนมรรยาทในการขอนิสัยเรียกว่า นิสสยาจารย์ ผู้สั่งสอนธรรมเรียกว่า อุทเทสาจารย์ คำว่า ผู้สั่งสอนธรรมนั้น หมายถึง สั่งสอนมรรยาทในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้สุจริต (ไม่ใช่สั่งสอนธรรมปริยัติหรือวิชาการ)  ดังบาลีในสุตตันตปิฎก ธ. ขุ. เล่มที่ ๒๕ หน้า ๓๘ ข้อ ๒๓ มีว่า “ธมฺมํ จเร สุจริตํ น ตํ ทุจฺจริตํ จเร.” แปลว่า พึงประพฤติ (ปฏิบัติ) ธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติ (ปฏิบัติ) ธรรมนั้นให้ทุจริต เช่น ถ้าประพฤติปฏิบัติในกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้เกิดความฉลาดในการดำรงชีวิต ๑๐ อย่าง มีเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตหรือสิ่งมีลมปราณให้ตาย เป็นต้น ก็ให้ประพฤติปฏิบัติเป็นสุจริต คือ ไม่ประพฤติปฏิบัติด้วยมารยาหรือเล่ห์กลอุบายต่าง ๆ เพื่อให้ได้ลาภ ยศ ความสรรเสริญ หรือความสุขกายสบายใจ เป็นต้น ถ้าประพฤติปฏิบัติธรรมดังกล่าวมานั้น จัดว่าประพฤติปฏิบัติกุศลธรรมเป็นทุจริตไม่ใช่สุจริต มีจรรยามรรยาทไม่ดี (อาจารวิบัติ) แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติกุศลธรรมเพื่อให้เกิดความเฉลียวฉลาดในธรรมทั้งหลายทั้งปวงแล้ว จะได้เลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะธรรมส่วนที่ให้คุณ คือ กุศลธรรมที่ดีมีความฉลาดเท่านั้น และงดเว้นไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมส่วนที่ให้โทษ คือ อกุศลธรรมที่ชั่วไม่มีความฉลาดหรือโง่เขลา อย่างนี้จัดว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นสุจริตแท้ไม่ใช่ทุจริต จัดว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมมีจรรยามรรยาทดี (อาจารสมบัติ) ดังนั้น จึงเรียกว่า อุทเทสาจารย์ แล.

 = ศาสดา ๕ จำพวก =   

วินัยปิฎก ภาษาไทย เล่ม ๗ จุลลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๓๕๒ กล่าวถึงศาสดาผู้สั่งสอนภาษาธรรมให้คนได้รู้ทั้งโลก นั้นมีอยู่ ๕ จำพวก คือ

๑. เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ (ศาสดาทุกชาติทุกภาษาทั้งโลก) เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณว่าเราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ (ด้วยความลืมตัวรู้เท่าไม่ถึงการหรือจงใจปกปิดก็ตาม) (คำว่า “ศีล” ในการปฏิบัติจริงของชีวิต หมายถึง “การมีชีวิตอยู่เป็นปรกติ” อวัยวะในร่างกายทั้งภายในและภายนอกทำงานให้ชีวิตได้อย่างสม่ำเสอและเป็นปรกติ ไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่อวัยวะเดียว ไม่มีโรคาพาธใด ๆ เบียดเบียนชีวิต แม้จิตหรือใจก็ปรกติ คือ ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดปองร้ายใคร และเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลด้วย เมื่อจะกล่าวด้านวิชาการย่อมกล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติศีล ๕, ๘, ๑๐, หรือ ๒๒๗ ได้แล้วโดยสมบูรณ์  หากศาสดาผู้สั่งสอนภาษาธรรมให้ชาวโลกมีความไม่ปรกติในชีวิต ชื่อว่าไม่เอื้อเฟื้อต่อศีล ๕ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังขีวิตให้ปรกติ ชื่อว่าศาสดาผู้นี้มีศีลไม่บริสุทธิ์) ฯลฯ ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังการรักษาโดยศีลจากสาวกทั้งหลาย

๒. เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณว่าเราเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ (เลี้ยงชีพด้วยความทุจริตหรือเป็นอกุศลกรรม) (ด้วยความลืมตัวรู้เท่าไม่ถึงการหรือจงใจปกปิดก็ตาม) ฯลฯ ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังเฉพาะซึ่งการรักษาโดยอาชีวะจากสาวกทั้งหลาย

๓. เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณว่าเราเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ (โดยรู้เท่าไม่ถึงการหรือเห็นผิดคิดว่าชอบก็ตาม) (เนื้อหาสาระในธรรมเทศนาไม่เป็นเอหิปัสสิโก คือ ผู้ฟังพิสูจน์ไม่ได้ ไม่เป็นโอปนยิโก คือ เนื้อความภาคปฏิบัติไม่น้อมเข้ามาใส่ตัว ไม่เป็นอกาลิโก คือ เนื้อความภาคปฏิบัติยังเลือกกาลเวลาอยู่ และผู้แสดงไม่แสดงธรรมไปตามลำดับ คือ อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง ไม่อ้างเหตุผลที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจภาคปฏิบัติได้ ไม่แสดงธรรมด้วยการตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง แสดงธรรมเพราะมีจิตคิดเห็นแก่ลาภหรือรายได้ มีเจตนาแสดงธรรมเพื่อให้กระทบตนและผู้อื่นเสมอ เหล่านี้เป็นธรรมเทศนาที่ไม่บริสุทธิ์) ฯลฯ ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังเฉพาะซึ่งการรักษา โดยธรรมเทศนาจากสาวกทั้งหลาย

๔. เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ดูกรโมคคัลลานะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณว่าเราเป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ (โดยรู้เท่าไม่ถึงการหรือเห็นผิดคิดว่าชอบก็ตาม) ฯลฯ ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังเฉพาะซึ่งการรักษาโดยไวยากรณ์จากสาวกทั้งหลาย ฯ คำว่า ไวยากรณ์ แปลว่า ปกรณ์ (ตำรา) อันกระทำศัพท์ทั้งหลายให้แจ่มแจ้ง (grammar) หรือ (root) ที่ว่าเป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์นั้น คือ

๑. ใช้คำที่มีความหมายพร่ามัว เช่นว่า พระพุทธศาสนาให้ความอบอุ่นแก่เรามาก หรือพระพุทธศาสนาเป็นเพชรน้ำเอก เป็นต้น เป็นคำที่มีความหมายไม่ชัดเจน พร่ามัว ผู้ฟังนำมาปฏิบัติจริงไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่องว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงเรียกว่าเป็นคำพูดที่มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ความจริงควรพูดหรือเขียนว่า “พุทธศาสนา” แปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สรุปลงใน ๓ หมวดธรรม คือ (๑) อกุศลธรรมหรือความชั่วหรือความทุจริต (๒) กุศลธรรมหรือความดีหรือความสุจริต (๓) อัพยากตธรรมหรือความไม่ดีไม่ชั่ว ถ้าปฏิบัติตามพุทธศาสนาส่วนที่เป็น “กุศลธรรมหรือสุจริต” หรือ “อัพยากตธรรม” ย่อมทำให้ชีวิตได้รับความอบอุ่นเป็นอย่างมาก เพราะพุทธศาสนา ๒ ส่วนนี้เป็นเพชรน้ำเอก แต่ถ้าปฏิบัติตามพุทธศาสนาส่วนที่เป็น “อกุศลธรรมหรือทุจริต” ย่อมทำให้ชีวิตเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะพุทธศาสนาส่วนนี้เป็น “หายนธรรม” ดังนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นคำพูดที่มีไวยากรณ์บริสุทธิ์

๒. ใช้คำไม่ตรงกับความหมายจริง เช่นว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ เป็นต้น จัดว่าเป็นคำพูดที่มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ความจริงมีว่า คำว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” แปลว่า ดับกิเลสยังมีส่วนเหลือ (ไม่เกี่ยวกับเบญจขันธ์) คือ ดับกิเลสยังไม่หมด ได้แก่ (๑) พระโสดาบันอริยบุคคล (๒) พระสกทาคามีอริยบุคคล (๓) พระอนาคามีอริยบุคคล พระอริยบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้จัดว่าเป็น “สอุปาทิเสสนิพพาน” เพราะดับกิเลสยังมีส่วนเหลือ ส่วนพระอริยบุคคลจำพวกที่ ๔ คือ พระอรหันต์อริยบุคคลจัดว่าเป็น“อนุปาทิเสสนิพพาน” เพราะดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือ หมายถึงการปฏิบัติอัพยากตธรรมสติปัฏฐาน ๔ จริง ๆ ด้วย คือ พระโสดาบันละกิเลสที่เป็นสังโยชน์ได้ ๓ ใน ๑๐ เหลืออยู่ ๗ พระสกทาคามีละได้ ๓ เหลืออยู่ ๗ เหมือนพระโสดาบันแต่ท่านทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลงได้มากกว่าพระโสดาบัน พระอนาคามีละได้ ๕ เหลืออยู่ ๕ ส่วนพระอรหันต์ละกิเลสที่เป็นสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ โดยไม่มีส่วนเหลือ การใช้คำให้ตรงกับความหมายจริงดังที่กล่าวมานี้จึงจัดว่าเป็นคำพูดที่มีไวยากรณ์บริสุทธิ์

๓. ใช้คำมั่วไป คือ ใช้คำที่ปะปนกันไปจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร เช่นว่า ธรรมะของพระพุทธศาสนา หรือว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นต้น เรียกว่าเป็นคำมีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ คำว่า ธรรมะของพระพุทธศาสนา นั้นเป็นคำพูดที่มั่วไป ควรใช้คำไม่ให้มั่วว่า ธรรมะในพุทธศาสนา เพราะคำว่า “ธรรมะ” นั้นเป็นคำสั่งสอนของ    พระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเรียกว่า พุทธศาสนา (ไม่มีพระ) ส่วนคำว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำพูดมั่วไป ควรใช้ไม่ให้มั่วว่า ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากว่า “ธรรมะ” นั้นเป็นธรรมชาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัยของธรรมะเอง ไม่ใช่เป็นของพระพุทธเจ้าและก็ไม่ใช่เป็นของของใครทั้งโลกด้วย เช่น ความสุข ความทุกข์ ความวางเฉย เป็นต้น ดังนั้น ถ้าคนผู้เป็นศาสดาสั่งสอนประชาชนด้วยคำพูดที่มั่วไป ก็เรียกว่าเป็นคำมีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์

๕. เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ ดูกรโมคคัลลานะ  อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ (ทุกชาติทุกภาษา) เป็นผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณว่า เราเป็นผู้มีญาณทัสสนะบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง (โดยรู้เท่าไม่ถึงการหรือเห็นผิดคิดว่าชอบก็ตาม) ฯลฯ ก็แล ศาสดาเห็นปานนั้น ย่อมหวังเฉพาะซึ่งการรักษาโดยญาณทัสสนะจากสาวกทั้งหลาย ฯ คำว่า “ญาณทัสสนะ” แปลว่า ความรู้ความเห็น “ญาณ” แปลว่า ความรู้ “ทัสสนะ” หรือ “ทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็น

มีตัวอย่างในสุตตันตปิฎกภาษาไทย เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร ข้อ ๕๑ กล่าวถึงความรู้ความเห็นของพวกพราหมณ์ (ญาณทัสสนะ) ซึ่งเป็นพวกมีความรู้ความเห็นผิดหรือรู้เห็นคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่เรียกว่า ผู้มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ นั้น โดยพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า… ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของพวกเขาไม่ได้จึงพูดว่า พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมนิรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ความรู้ความเห็นอย่างนี้แลเรียกว่า มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นความรู้ความเห็นที่ไม่เป็นความจริง (มิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิวิปัลลาส) พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะแลภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฎอยู่แล คือ นางพราหมณีทั้งหลายของพวก พราหมณ์มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนมอยู่บ้าง อันที่จริงพวกพราหมณ์เหล่านั้นก็ล้วนแต่เกิด จากช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น ฯลฯ ดังนั้น ญาณทัสสนะเกี่ยวกับการเกิดของพวกพราหมณ์เหล่านั้นเป็น “ญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์” แต่พระพุทธองค์จึงทรงแสดงญาณทัสสนะเกี่ยวกับการเกิดของพวกพราหมณ์ใหม่ให้เป็น “ญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์” แก่สามเณรวาเสฏฐะและภารทวาชะได้ฟัง (มีรายละเอียดในพระสูตรแล้ว)

มอบให้เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเมตตาจิตจริง ๆ ที่หลงผิดในคำว่า “ศาสนา” ซึ่งเป็นคำที่ตนสมมุติบัญญัติหรือคิดตั้งชื่อขึ้นมาเท่านั้น ก็เหมือนคิดตั้งชื่อบุตรหรือสมมุติชื่อบุตรว่า “เด็กชายบุญ” เท่านั้น โปรดสำนึกให้ดี

ธัมมิกะ

e-Mail thammiga@hotmail.com

๑๔  มีนาคม  ๒๕๕๔