ไตรสรณคมน์

ไตรสรณคมน์ (ภาคปฏิบัติจริง) ตอน ๑

ไตรสรณคมน์ แปลว่า การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสิ่งอันเป็นที่พึ่ง ๓ อย่าง คือ ภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ที่ชาวพุทธนำมาสวดเป็นภาษาวิชาการอยู่เป็นนิจว่า :-

๑. พุทธัง สรณัง คัจฉามิ. ข้าพเจ้าถึงพุทธะว่าเป็นที่พึ่ง

๒. ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ. ข้าพเจ้าถึงธรรมะว่าเป็นที่พึ่ง

๓. สังฆัง สรณัง คัจฉามิ. ข้าพเจ้าถึงสังฆะว่าเป็นที่พึ่ง

= ที่เป็นที่อุบัติและจุติแห่งรัตนทั้งสาม =

รัตนทั้งสามนี้ คือ สภาวะแห่งความเป็น พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ในภาคปฏิบัติจริง ย่อมชื่อว่ารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน โดยมีที่เป็นที่อุบัติและจุติอยู่ในอัตภาพ อันมีประมาณวาหนึ่งมีสัญญาและมีใจนี้เท่านั้น (สุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๔๕ โรหิตัสสสูตรที่ ๑)

= ทางเดินชีวิตที่ให้เข้าถึงรัตนทั้งสาม =

 วิถีหรือทางเดินชีวิตด้านจิตวิญญาณ ของคนผู้มีชีวิตอยู่ทั้งโลก โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติศาสนาแต่อย่างใด มีทาง เดินของชีวิตอยู่ ๓ ทาง คือ

๑. ทางอกุศลกรรม คือ ความชั่วหรือทุจริตทางกาย ๓ วาจา ๔ ใจ ๓ รวมเป็น ๑๐ หากท่านผู้ใช้ชีวิตดำเนินไปตามทางสายนี้ ย่อมชื่อว่าเดินทางไปสู่ “ทุคติ” คือ จิตวิญญาณเป็นสัตว์นรกบ้าง เปรตบ้าง เดียรัจฉานบ้าง อสุรกายบ้าง อมนุษย์บ้าง มารบ้าง ทางนี้ไม่ใช่ทางไปถึงสภาวะที่เป็นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะได้.

 ๒. ทางกุศลกรรม คือ ความดีหรือสุจริตทางกาย ๓ วาจา ๔ ใจ ๓ รวมเป็น ๑๐ หากท่านผู้ใช้ชีวิตดำเนินไปตามทางสายนี้ ย่อมชื่อว่าเดินทางไปสู่ “สุคติ” คือ จิตวิญญาณเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง พระพรหมบ้าง ทางนี้ก็ไม่ใช่ทางไปถึงสภาวะที่เป็นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะได้.

 ๓. ทางอัพยากตกรรม คือ ความไม่ดีและไม่ชั่วหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่เป็นทาง สายกลางประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ และตรงกับสติปัฏฐาน ๔ จริง ๆ โดยมีอาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบดูแลควบคุมการปฏิบัติอยู่มิได้เหินห่าง หากท่านผู้ใช้ชีวิตดำเนินไปตามทางสายนี้ ย่อมชื่อว่าเดินทางไปถึง “นิพพาน” หรือ “โลกุตตระ” หรือถึงสภาวะที่เป็นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะได้จริง.

 = วิปัสสนากัมมัฏฐานสามสาย =

 อัพยากตกรรม มีชื่อเรียกทางวิชาการหรือปริยัติว่า สติปัฏฐาน ๔ วิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามความ หมายในทางปฏิบัติจริงแล้ว มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน และวิปัสสนากัมมัฏฐานในโลกนี้นั้น มีอยู่ ๓ สาย คือ

๑. วิปัสสนากัมมัฏฐาน สายสัมมาปฏิบัติ คือ การปฏิบัติชอบเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลางจริง ๆ เป็นทางเข้าถึงรัตนทั้ง ๓ และเอามาเป็นที่พึ่งได้จริง.

๒. วิปัสสนากัมมัฏฐานสายมิจฉาปฏิบัติ คือ การปฏิบัติผิดจากทางสายกลาง กลายเป็นทาง “อัตตกิลมถานุโยค” หรือเป็นทาง “กามสุขัลลิกานุโยค” ไปเสียโดยไม่รู้สึกตัว อาจเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ได้ ทางนี้ไม่ใช่ทางให้เข้าถึงรัตนทั้ง ๓ ได้.

๓. วิปัสสนากัมมัฏฐานสายวิปัลลาส คือ การปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากการปฏิบัติชอบ ที่เป็นทางสายกลาง อาจคลาดเคลื่อนไปทางอัตตกิลมถานุโยคบ้าง หรือกามสุขัลลิกานุโยคบ้างก็ย่อมได้ อาจเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ได้ และทางนี้ก็ไม่ใช่ทางให้เข้าถึงรัตนทั้ง ๓ เอามาเป็นที่พึ่งได้.

= องค์ธรรมที่เป็นส่วนร่วมกับทางสายกลาง =

คนผู้ปฏิบัติอัพยากตธรรม หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานสายกลาง เข้าถึงรัตนทั้ง ๓ ได้จริงนั้น ย่อมมีองค์ธรรมที่มาเป็นส่วนร่วมกับมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) คือ

๑. ส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติ ควรเป็นคนเผ่าพันธุ์อริยกชาติ คือ เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมในชีวิต ๕ อย่าง (สุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ข้อ ๕๓ อังคสูตร ได้แก่

๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า อิติปิโส ภะคะวา แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น อะระหัง เป็นพระอรหันต์…พุทโธ เป็นผู้เบิกบาน ภะคะวา เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

๒) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีความเจ็บป่วยน้อย ประกอบด้วยไฟธาตุที่เผาอาหารให้ย่อยสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นไฟธาตุพอปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร (ควรแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน)

๓) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา และเป็นผู้เปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน (วิญญูชน คือ ผู้รู้มีปัญญาด้านวิปัสสนา ฯ สัมมาปฏิบัติจริง)

๔) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม (ละอกุศลธรรมหรือความชั่ว ๑๐) เพื่อยังกุศลธรรม (ปฏิบัติในกุศลธรรมหรือความดี ๑๐ อ่านดูที่หนังสือ นวโกวาท อกุศลกรรมบถ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐) ให้ถึงพร้อมอยู่ เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม

๕) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา (ปัญญาจากการถาม การสนทนากับสัตบุรุษจริง ๆ) อันเป็นปัญญาที่ให้หยั่งรู้ถึงความเกิดขึ้นและดับไป เป็นปัญญาอันประเสริฐ สามารถชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

๒. สิ่งที่บุคคลผู้ปฏิบัติควรละ คือ ปลิโพธหรือเครื่องกังวลใจ ๑๐ อย่าง ได้แก่ (๑)   ละปลิโพธในที่อยู่ (๒) ละปลิโพธในตระกูล (๓) ละปลิโพธในลาภ (๔) ละปลิโพธในหมู่เพื่อนฝูงหรือมิตรสหาย (๕) ละปลิโพธในงานประจำ (๖) ละปลิโพธในหมู่ญาติ (๗) ละปลิโพธในความอาพาธหรือความเจ็บป่วย (๘) ละปลิโพธในคัมภีร์หรือตำรา (ปริยัติ) (๙)ละปลิโพธในอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ที่มี (๑๐) ละปลิโพธในการเดินทางไกล หากมีปลิโพธอยู่การปฏิบัติย่อมเข้าไม่ถึงรัตนทั้ง ๓ ได้ เพราะปลิโพธและตัณหา มานะ ทิฏฐิเป็น “ปปัญจธรรม” ทำให้เนิ่นช้า

๓. สิ่งที่บุคคลผู้ปฏิบัติควรเสพ คือ สัปปายะหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในการ ปฏิบัติ ๔ อย่าง ได้แก่ (๑) ที่อยู่สะดวกสบาย (๒) อาหารสะดวกสบาย (๓) สะดวกสบายกับจริตของอาจารย์ผู้แนะนำการปฏิบัติ (๔) ธรรมคำสั่งสอนของอาจารย์ก็เป็นธรรมที่สะดวกสบายต่อการปฏิบัติเพราะเข้ากับจริตของตน หากขาดสัปปายะทั้ง ๔ อย่างนี้ การปฏิบัติย่อมเข้าไม่ถึงรัตนทั้ง ๓ ได้.

๔. ทางสายกลางจริง ๆ ย่อมประกอบด้วยองค์ ๘ มีเริ่มต้นที่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ  มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด หากองค์ธรรม ๘ ไม่ครบก็เข้าไม่ถึงรัตน ๓ ได้.

๕. หากมีความพร้อมทั้งผู้ปฏิบัติ ทั้งอาจารย์ผู้แนะนำ ทั้งแนวทางปฏิบัติ และองค์ธรรมที่มาเป็นส่วนร่วมอื่น ๆ ก็มีพร้อมแล้ว จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่เป็นทางสายกลางไปเรื่อย ๆ และมีอาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบมาสอบอารมณ์ประจำวันด้วย ท่านย่อมรู้ว่าผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีปุพเพกตปุญญตา ได้ปฏิบัติผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ไปได้จึงจะเข้าถึงรัตนทั้ง ๓ และวิปัสสนาญาณ ๑๖ นั้น คือ

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ความรู้ที่ให้รู้การกำหนดนามรูปได้ทันปัจจุบัน

๒. ปัจจยปริคคหญาณ ความรู้ที่ให้รู้เหตุปัจจัยให้เกิดนามรูป

๓. สัมมสนญาณ ความรู้ที่ให้รู้รูปนามว่าเป็นสิ่งที่เสมอกัน (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

๔. อุทยัพพยญาณ ความรู้ที่ให้รู้รูปนามว่ามีการเกิดขึ้นและเสื่อมไป

๕. ภังคญาณ ความรู้ที่ให้รู้รูปนามว่าเป็นของเสื่อมสลายไปได้

๖. ภยญาณ ความรู้ที่ให้รู้รูปนามว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว

๗. อาทีนวญาณ ความรู้ที่ให้รู้รูปนามว่าเต็มไปด้วยโทษานุโทษ

๘. นิพพิทาญาณ ความรู้ที่ให้รู้รูปนามว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย

๙. มุญจิตุกัมมยตาญาณ ความรู้ที่ให้รู้การกระทำในสิ่งที่จะให้ได้หลุดพ้น

๑๐. ปฏิสังขาญาณ ความรู้ที่ให้กลับไปตรวจดูสังขารเพื่อหาทางพ้น

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ความรู้ที่ให้รู้การวางเฉยในสังขาร

๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ความรู้ที่ให้รู้การอนุโลมอริยสัจจ์

๑๓. โคตรภูญาณ ความรู้ที่ให้รู้ว่าอยู่ระหว่างโคตรปุถุชนและพระอริยะ

๑๔. มัคคญาณ ความรู้ที่ให้รู้ว่านี่เป็นหนทางไปสู่ความเป็นพระอริยะ หรือทางให้เข้าถึง “รัตนสาม” ซึ่งเป็นทางใกล้จะถึงที่สุดแล้ว คือ 

๑) โสดาปัตติมรรค ทางให้ถึงรัตนสาม ระดับพระโสดาบัน

๒) สกทาคามิมรรค ทางให้ถึงรัตนสาม ระดับพระสกทาคามี

๓) อนาคามิมรรค ทางให้ถึงรัตนสาม ระดับพระอนาคามี

๔) อรหัตตมรรค ทางให้ถึงรัตนสาม ระดับพระอรหันต์

๑๕. ผลญาณ ความรู้ที่ให้รู้ว่านี่เป็นปฏิเวธหรือผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสายกลาง ที่เป็นสัมมาปฏิบัติจริง เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง จึงเกิดเป็นปฏิเวธหรือเกิดเป็นผลให้เข้าถึง “รัตนสาม” คือ ภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ โดยจิตวิญญาณหรือโดยองคาพยพของผู้ปฏิบัติทั้งหมด ได้หล่อหลอมเข้ากับรัตนทั้งสามแล้วโดยสมบูรณ์ ทั้งชีวิตท่านก็กลายเป็นรัตนสามไป ซึ่งมีปฏิเวธหรือผลได้จากการปฏิบัติชอบอยู่ ๔ ระดับ คือ

๑) โสดาปัตติผล ผลที่เข้าถึงรัตนสาม ระดับพระโสดาบัน ละสังโยชน์ได้ ๓ ใน ๑๐ ยัง เหลืออยู่ ๗ ท่านจึงเรียกพระอริยบุคคลระดับนี้ว่า “พระเสขะ พระผู้ยังต้องศึกษา” (ไปดูสังโยชน์ ๑๐ ในหนังสือ ธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๒ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท) 

๒) สกทาคามิผล ผลที่เข้าถึงรัตนสาม ระดับพระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้ ๓ ใน ๑๐ ยังเหลืออยู่ ๗ แต่ทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงได้มาก ท่านก็เรียกว่า “พระเสขะ” ด้วย

๓) อนาคามิผล ผลที่เข้าถึงรัตนสาม ระดับพระอนาคามี ละสังโยชน์ได้ ๕ ใน ๑๐ ยังเหลือ อยู่ ๕ ท่านก็ยังเรียกว่า“พระเสขะ” ด้วยเหมือนกัน เพราะยังจะต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้รู้ลึกซึ้งต่อไป เพื่อละสังโยชน์เบื้องปลายอีก ๕ อย่างที่เหลือ

๔) อรหัตตผล ผลที่เข้าถึงรัตนสาม ระดับพระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด ๑๐ อย่าง  พระระดับนี้ท่านจึงเรียกว่า“พระอเสขะ” คือ ผู้ไม่ต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอีกต่อไป เพราะหมดกิจหรือจบพรหมจรรย์แล้ว มีหน้าที่สั่งสอนสัตว์โลกเท่านั้น คือ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว (โลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา พุทธัตถจริยา)

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ความรู้ที่ให้รู้การสำรวจตรวจสอบมรรคผล ที่ตนได้รู้เห็นจากการปฏิบัติชอบผ่านมาแล้วนั้นว่า กิเลสที่ให้เกิดเป็นสังโยชน์ ๑๐ เหล่านั้น ละได้แล้วเท่าไร เหลืออยู่เท่าไร หรือดับไปหมดแล้วโดยไม่เหลือ คือเป็นโลกุตตระหรือนิพพานไปแล้ว ปัจจเวกขณญาณจะบอกให้รู้ว่า จักขุง อุทปาทิ. จักษุ (ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุ) เกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ ญาณ ปัญญา แสงสว่าง ย่อมเกิดปรากฏแก่ตนผู้ปฏิบัติชอบโดยสมบูรณ์แล้ว และชีวิตก็ได้หล่อหลอมเข้าเป็นอันเดียวกับรัตนทั้งสาม คือ สภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ธรรมะ และ สังฆะแล้ว ชื่อเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่นั้นก็เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า “พระอริยบุคคล” โดยมีนามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่า “พระสงฆ์” แต่หมายถึงพระอริยสงฆ์ ซึ่งมีสภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะรวมอยู่ในชีวิตพระสงฆ์นั้นด้วย และพระสงฆ์จริง ๆ ดังกล่าวนั้น มีอยู่ ๔ เหล่า คือ

๑. พระโสดาบันอริยบุคคล (โสดาปัตติมรรค – โสดาปัตติผล) ผู้มีปัญญาญาณเข้าถึงกระแสแห่งนิพพาน เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีส่วนเหลือ ชีวิตไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา

๒. พระสกทาคามีอริยบุคคล (สกทาคามิมรรค – สกทาคามิผล) ผู้มีปัญญาญาณหวนกลับมาสัมผัสกับความเป็น พระโสดาบันคราวเดียว แล้วจึงปฏิบัติเข้าสู่ความเป็นพระสกทาคามีบรรลุนิพพาน เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีส่วนเหลือ

๓. พระอนาคามีอริยบุคคล (อนาคามิมรรค – อนาคามิผล) ผู้มีปัญญาญาณบรรลุถึงพระอนาคามีแล้วเข้าถึงสุทธาวาส ๕ เลย โดยไม่หวนกลับมาสู่โลกไหน ๆ อีกต่อไป และยังเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน เพราะดับกิเลสที่เป็นส่วนสังโยชน์ได้เพียง ๕ ใน ๑๐ เท่านั้น ยังเหลืออยู่ ๕ 

๔. พระอรหันต์อริยบุคคล (อรหัตตมรรค – อรหัตตผล) ผู้มีปัญญาญาณบรรลุถึงความเป็นผู้ควรหรือเป็นผู้เหมาะสมแก่การบรรลุ “อนุปาทิเสสนิพพาน” ดับกิเลสหรือสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ โดยไม่มีส่วนเหลือ และมีนามบัญญัติเฉพาะว่า“พุทธ” คือ ผู้ปฏิบัติรู้อริยสัจจ์เป็นพระอรหันต์ได้ด้วยตนเองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วยเรียกว่า “พระสัมมาสัมพุทธ” ถ้าผู้ปฏิบัติรู้อริยสัจจ์เป็นพระอรหันต์ได้ด้วยตนเองแล้วไม่สั่งสอนใครอีกเรียกว่า “พระปัจเจกพุทธ” แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ “อัพยากตธรรม” และได้รู้อริยสัจจ์เป็นพระอรหันต์ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนไว้แล้วก็สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วยเรียกว่า“พระอนุพุทธ” แล. 

มอบให้เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเมตตาจิตจริง ๆ โดยเฉพาะผู้หวังพี่งรัตนสามด้วยใจจริง

ธัมมิกะ

watnongriewnang@gmail.com

๒  ธันวาคม  ๒๕๕๓